รองศาสตราจารย์นายแพทย์สาธิต เที่ยงวิทยาพร
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
อนุสาขาข้อสะโพกและข้อเข่า ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ นอกจากจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแล้ว ถ้าเป็นมากอาจก่อให้เกิดความพิการหรือผิดรูปของกระดูกข้อเข่าอย่างถาวร ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไข้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้รวมถึงครอบครัวลดลง หลาย ๆ คนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการปวดและรู้สึกขัดบริเวณข้อเข่าบ่อย ๆ เป็นไปได้ว่าคุณอาจเริ่มมีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เพื่อที่จะได้ดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ในระยะแรก
ข้อเข่าเสื่อมคืออะไร
ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of the Knee, OA knee) เป็นโรคที่เกิดจากการสึกกร่อนของผิวกระดูกอ่อนของข้อเข่าอันเนื่องมาจากความเสื่อมตามอายุขัยและการใช้งานมาก ทำให้มีการขัดสีและถลอกของผิวกระดูกอ่อนที่หุ้มอยู่รอบเข่าจนถึงเนื้อกระดูก เปรียบเทียบได้กับกระเบื้องที่ปูพื้นบ้านมีการหลุดลอกจากพื้นบ้านของเรา เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกที่มาชนกันขณะรับน้ำหนัก จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่ถ้ามีบางบริเวณหรือบางส่วนที่มีการซ่อมแซมตัวเองและพอกตัวหนาขึ้นมากกว่าเดิม เกิดเป็นกระดูกงอกขรุขระขึ้นภายในข้อ ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวติดขัดและมีเสียงดัง ในคนไข้ที่มีอาการมากแล้ว พบว่ากระดูกที่มีการงอกผิดปกติหรือมีการสึกกร่อนไปมาก จะไปทำให้แนวแกนขาของคนไข้ผิดปกติไปจากเดิม โดยอาจมีการโก่งเข้าด้านในหรือเกบิดออกนอกซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การรับน้ำหนักของข้อเข่าผิดปกติได้
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นคนละโรคกับโรคข้อที่มีภาวะข้ออักเสบเช่น รูมาตอยด์และเกาต์ ซึ่งจะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคและอาการแตกต่างกันไป แต่โรคที่มีภาวะที่มีการอักเสบของข้อเหล่านี้ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาได้
รูปที่ 1 ภาพวาดแสดงข้อเข่าปกติ (a) ข้อเข่าเสื่อมบางส่วนหรือซีกเดียว (b) และข้อเข่าเสื่อมที่รุนแรง (c)
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
โอกาสที่คุณจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ เนื่องจากหลายปัจจัยที่ทำให้สมดุลระหว่างการสร้างและการทำลายผิวกระดูกอ่อนของเข่าเสียไป ทำให้สูญเสียผิวกระดูกอ่อนไปเรื่อยๆ โดยปกติข้อเข่าเสื่อมมักจะเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกตอนอายุประมาณ 30 ถึง 40 ปี โดยที่อาการอาจจะยังไม่แสดงออกมากนักในระยะแรก แต่เมื่อมีอายุ 50 ปีขึ้นไปก็จะเริ่มมีอาการมากขึ้น ทั้งนี้มีข้อมูลพบว่าโรคข้อเข่าเสื่อมมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์อีกด้วย หรือแม้กระทั่งการที่คุณเคยประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่ามาก่อน ก็อาจเป็นสาเหตุให้คุณมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าคุณอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวที่มาก ทำให้ข้อเข่าของคุณจะต้องรองรับน้ำหนักหรือแรงที่มากดทับมากขึ้น ทำให้เกิดการสึกกร่อนของผิวกระดูกอ่อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงถ้าคุณมีกล้ามเนื้อต้นขาที่ไม่แข็งแรงที่จะมาช่วยในการเคลื่อนไหวงอเหยียดเข่าด้วยแล้ว คุณก็อาจจะพบปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าคนอื่น คุณผู้หญิงทั้งหลายต้องระวังโรคนี้มากกว่าคุณผู้ชาย เพราะคุณมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย ในเมืองไทยพบว่าคนไข้ที่มีอาการมากถึงขนาดต้องผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ร้อยละ 90 เป็นผู้หญิงเนื่องจากปัจจัยความแตกต่างหลายๆอย่าง เช่น ฮอร์โมน ความแข็งแรงของเอ็นและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงน้อยกว่า เป็นต้น
อาการของข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างไร
เมื่อคุณเป็นข้อเข่าเสื่อมในระยะเริ่มแรก จะมีอาการปวดบวมที่บริเวณข้อเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได อาการปวดจะเริ่มจากน้อยๆแล้วค่อยปวดมากขึ้น บ่อยขึ้น อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น จนเป็นสาเหตุให้คุณเริ่มเดินได้ระยะทางน้อยลง เนื่องจากมีอาการปวดมากจนเดินไม่ไหว ไม่สามารถลงน้ำหนักบนข้อเข่าได้ ท้ายที่สุดอาจเดินไม่ได้เลย บางครั้งคุณจะรู้สึกว่ามีอาการข้อยึด ซึ่งอาการนี้จะเป็นมากในตอนเช้าๆหรือตอนเริ่มต้นเดินใหม่ๆ อาการข้อยึดติดแข็งที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้มุมที่เข่าสามารถงอเหยียดได้ลดลง ทำให้การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่นการลุก-นั่ง ก้าวขึ้น-ลงบันได ก้าวข้ามสิ่งกีดขวาง หรือขึ้น-ลงรถ ทำได้ลำบาก นอกจากนี้อาจมีเสียงดังในเข่าขณะเคลื่อนไหว อาการทั้งหลายเหล่านี้อาจเป็นมากขึ้นหลังจากเดินมากๆหรือเดินขึ้นลงบันได ถ้าคุณไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้ข้อเข่ามีการเสื่อมมากขึ้น จนถึงในระยะที่เป็นรุนแรง ข้อเข่าจะเริ่มมีการโก่งผิดรูปมากขึ้นเรื่อยๆจนเห็นได้ชัด และมีการงอกของกระดูกที่ผิดปกติ จนในที่สุดจะมีอาการปวดมากแม้ขณะที่อยู่เฉยๆ ซึ่งทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันลำบากมากขึ้นจนบางครั้งแทบจะทำไม่ได้เลย
ป้องกันดูแลรักษาตนเองอย่างไร
เมื่อเริ่มมีอาการของข้อเข่าเสื่อมในระยะต้นๆ คุณสามารถดูแลรักษาตัวเองควบคู่ไปกับการรักษาโดยแพทย์ได้โดยการปฏิบัติด้วยวิธีง่ายๆดังต่อไปนี้
ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม หรือที่เรียกกันว่าการเปลี่ยนสะบ้าเทียมนั้นเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ผิวข้อสึกหรอไปมากและไม่สามารถประสบความสำเร็จโดยวิธีการรักษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาหรือการทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์จะทำผ่าตัดโดยการนำผิวกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพแล้วออก หลังจากนั้นจะนำข้อเข่าเทียมซึ่งทำมาจากโลหะและโพลิเอทธีลีนที่ได้รับการออกแบบมา เพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยเฉพาะมาใส่แทนที่โดยยึดด้วยซีเมนต์พิเศษแล้วจัดแกนขาที่ผิดรูปให้กลับมาตรงดังเดิม ทำให้ภายหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าและลงน้ำหนักได้เป็นธรรมชาติและปราศจากความเจ็บปวด
ข้อเข่าเทียม มีส่วนประกอบด้วยกัน 4 ส่วนได้แก่
1. ส่วนที่ติดกับปลายกระดูกต้นขาส่วนล่าง (femoral component)เป็นโลหะผิวเรียบที่ยึดกับปลายกระดูกต้นขาส่วนล่างทำหน้าที่เป็นเหมือนกระดูกอ่อนผิวข้อ
2. ส่วนที่ติดกับปลายกระดูกหน้าแข้งส่วนบน (tibial component) เป็นโลหะที่ยึดติดกับปลายกระดูกหน้าแข้งส่วนบนทำหน้าที่เป็นแป้นรองรับหมอนรองกระดูกเทียมอีกทีหนึ่ง
3. หมอนรองกระดูกเทียม (polyethylene) อยู่ระหว่างโลหะสองชิ้นข้างต้น ทำหน้าที่รับและกระจายน้ำหนัก
4. ผิวลูกสะบ้าเทียม (patellar component)
เมื่อไรที่ควรผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมจัดเป็นการผ่าตัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยสามารถทำให้คนไข้หายจากอาการเจ็บปวดทรมาน สามารถเดินได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติและเดินได้ไกลมากขึ้น สามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้หรือท่องเที่ยวได้ รวมถึงรูปร่างของข้อเข่าดูสวยงามขึ้น โดยผู้ป่วยที่เหมาะสมจะผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ได้แก่ ผู้ป่วยสูงอายุที่มีข้อเข่าเสื่อมในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่ต้องทานยาแก้ปวดต่อเนื่องกันทุกวัน มีอาการปวดมากจนไปรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวัน หรือเมื่อรักษาโดยวิธีอื่นทั้งหมดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้แพทย์และคนไข้จะประเมินอาการและผลการรักษาร่วมกันเพื่อตัดสินใจในการผ่าตัด
ผลการรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม
ผู้ป่วยภายหลังผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม มักจะสามารถลุกยืน และเดินได้ดีตั้งแต่วันแรกหรือวันที่สองหลังผ่าตัด กลับบ้านได้ในราววันที่ 3-4 หลังการผ่าตัด โดยก่อนที่จะกลับบ้าน ผู้ป่วยควรจะสามารถเหยียดเข่าได้ตรง งอเข่าได้เกิน 90 องศา และสามารถเดินไปห้องน้ำคนเดียวโดยใช้เครื่องช่วยเดิน เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ผู้ป่วยสามารถเดินได้คล่องขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยเดิน หลังจากนั้นแพทย์จะนัดติดตามผู้ป่วย เพื่อประเมินแผลผ่าตัด การใช้งานและความมั่นคงของข้อเข่าเป็นระยะทุก 3 เดือน ถึง 6 เดือน และตลอดไป