พ.ท. ชัยศิริ ชัยชาญกุล
กองออร์โธปิดิกส์ ร.พ. พระมงกุฏเกล้า
การส่งตรวจภาพเอกซเรย์เพื่อการวินิจฉัยพยาธิสภาพบริเวณกระดูกสันหลัง เป็นการปล่อยรังสีเอกซ์จากเครื่องกำเนิดรังสีไปยังแผ่นฟิล์มอีกด้าน โดยมีร่างกายส่วนที่ต้องการประเมินเป็นตัวคั่นกลาง ภาพที่ได้จะเป็นภาพขาวดำที่มีความเข้มของสีแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซับรังสีของอวัยวะต่าง ๆ เนื่องจากแคลเซียมที่เป็นองค์ประกอบหลักของกระดูกสามารถดูดกลืนรังสีได้ดี ภาพเอกซเรย์จึงมักให้ข้อมูลความผิดปกติของกระดูกที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบหลักได้ดี ภาพที่เกิดขึ้นจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความผิดปกติทางด้านโครงสร้างของกระดูก เช่น การหัก การยุบตัว หรือการเคลื่อนออกจากการแนวปกติของกระดูกสันหลัง เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากอาการแสดง และ การตรวจร่างกายของแพทย์มาวิเคราะห์ร่วมกันกับภาพเอกซเรย์จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคและหาสาเหตุของโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น
ภาพเอกซเรย์ในแต่ละครั้งอาจเทียบเท่าได้กับปริมาณที่ร่างกายได้รับรังสีในธรรมชาติติดต่อกันประมาณ 10 วัน ดังนั้นในหญิงมีครรภ์ รังสีที่ได้รับอาจส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเพื่อความปลอดภัย โดยส่วนใหญ่อาการปวดหลังจะหายได้เองและมากกว่าร้อยละ 90 หายได้โดยไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ การส่งตรวจภาพรังสีเอกซเรย์จึงควรมีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมและหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังทั่วไป
ข้อบ่งชี้ที่ควรได้รับการส่งภาพรังสีเอกซเรย์ในผู้ป่วยทีมีอาการปวดหลัง
- ผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุรุนแรง (รูปที่ 1)
- อุบัติเหตุทั่วไปที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระดูกอยู่เดิม เช่น โรคกระดูกพรุน
- อาการปวดหลังในระยะเฉียบพลันร่วมกับการมีสัญญาณอันตราย (red flag signs) โดยสัญญาณอันตราย ได้แก่ น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ไข้ (รูปที่ 2) เบื่ออาหาร เหงื่อออกกลางคืน หรือมีอาการปวดมากที่ไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น ปวดขณะนอนหลับ เป็นต้น ซึ่งอาการปวดหลังที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อและโรคมะเร็งถือเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ที่สำคัญ ในการส่งภาพเอกซเรย์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกของการดำเนินโรค
- ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงทางระบบประสาทผิดปกติที่ประกอบไปด้วย อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหรือชาแขนขา ผู้ป่วยอาจกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่ได้ ถ่ายปัสสาวะ/อุจจาระโดยไม่รู้ตัว หรือมีอาการชาบริเวณอุ้งชิงกราน
- อาการปวดหลังอยู่เรื้อรังเกิน 6 สัปดาห์
ภาพเอกซเรย์เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยได้ดี ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ และก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยหากส่งด้วยความจำเป็นตามข้อบ่งชี้ นอกจากนี้การส่งเอกซเรย์อาจมีความจำเป็นในการแยกโรคที่ไม่มีความผิดปกติที่กระดูกสันหลังหลังโดยตรง แต่มีความฉุกเฉินในการรักษา เช่น มีความผิดปกติของเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องหรือทรวงอก ผู้ป่วยกลุ่มนี้นอกเหนือจากอาการปวดหลังผู้ป่วยมักมีอาการหน้ามืด แน่นหน้าอก ปวดท้อง หรือหายใจลำบากร่วมด้วย
รูปที่ 1 แสดงภาพเอกซเรย์ทางด้านหน้าและด้านข้างในผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุตกจากที่สูง จากภาพพบความผิดปกติคือ กระดูกสันหลังส่วนเอวปล้องที่ 1 มีการหักยุบ (ลูกศรสีแดง)
รูปที่ 2 แสดงภาพเอกซเรย์ทางด้านหน้าและด้านข้างในผู้ป่วยที่มีประวัติ ปวดหลังเรื้อรังเป็นเวลานานร่วมกับมีไข้ และน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ