อาจารย์นายแพทย์นิคม โนรีย์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ใกล้จะเปิดประเทศแล้วหลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับโรคโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลาย ๆคนคงอยากที่จะเดินทางท่องเที่ยวหรือต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัย ซึ่งการเดินทางที่รวดเร็วทันใจในโลกโลกาภิวัฒน์แบบนี้ย่อมหนีไม่พ้นการขึ้นเครื่องบินเป็นแน่ แต่เคยสังเกตบ้างไหมว่าทุกครั้งก่อนขึ้นเครื่องบินนั้น ผู้โดยสารต้องผ่านเครื่องตรวจโลหะเพื่อป้องกันการโจรกรรม การพกอาวุธหรือของมีคมที่อันตรายขึ้นเครื่องไปด้วย แล้วถ้าเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกหรือใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (pacemaker) ผ่าตัดดามเหล็กเนื่องจากกระดูกหัก ใส่ข้อสะโพกหรือข้อเข่าเทียมต้องเดินผ่านเครื่องเหล่านี้จะส่งผลที่ตามมาอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบมาฝากครับ
หลักการทำงานของเครื่องตรวจจับโลหะ
ในปัจจุบันเครื่องตรวจจับโลหะในประเทศไทยที่พบบ่อยที่สนามบินนั้นเรียกว่า Walk-through metal detectors โดยหลักการทำงานของเครื่องตรวจจับโลหะนั้นจะปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาโดย transmitter coil ทั้งด้านข้างและด้านบนและตัวเครื่องก็จะมีตัวรับสัญญาณกลับโดย receiver coil ซึ่งจะตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผิดปกติซึ่งถูกสะท้อนมาจากวัสดุโลหะที่ผ่านเครื่องชนิดนี้ โดยสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกถึงความปลอดภัยสำหรับคนที่ติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจและคนท้องอีกด้วย
เครื่องตรวจจับโลหะกับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดใส่เหล็ก
ปรากฏการณ์ที่ผู้ป่วยบางคนแจ้งว่าผ่านเครื่องตรวจจับแล้วไม่มีสัญญาณดังเตือนใด ๆ และหรือบางคนแจ้งว่าดังตลอดที่เดินทางผ่านนั้นอธิบายได้จากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ครับ
1. อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือเหล็กที่ใช้ผ่าตัดนั้นประกอบไปด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น สแตนเลส (stainless steel) โคบอลต์ โครเมียม (Cobalt chrome) ไททาเนียม (Titanium) ซึ่งแต่ละชนิดตอบสนองต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยพบว่าโคบอลต์ โครเมียมจะถูกตรวจจับได้ไวกว่าสแตนเลส และไททาเนียม
2. การศึกษาของประเทศอังกฤษในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อเทียมที่เดินทางและผ่านเครื่องตรวจจับโลหะพบว่าเครื่องไม่ดังและสามารถเดินผ่านได้อย่างปกติร้อยละ 14 และเครื่องส่งสัญญาณดังขึ้นร้อยละ 86 เนื่องจากขนาดของเหล็กและปริมาณเนื้อเยื่อและไขมันล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งสิ้น
3. ประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับแต่ละเครื่องมีความเข้มของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือความถี่ของการปล่อยคลื่นออกมาที่ไม่เหมือนกัน (sensitivity)
สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนการเดินทางขึ้นเครื่องบิน
อย่างไรก็ตามแม้เราเคยได้รับการผ่าตัดที่แขนโดยคุณหมอใช้แผ่นเหล็กขนาดเล็กและวัสดุเป็นไททาเนียมแต่ก็ยังมีโอกาสที่เครื่องจะเกิดสัณญาณดังขึ้นเช่นกัน (ถึงแม้จะน้อยก็ตามโดยทฤษฏี) และในขณะเดียวกันคุณตาคุณยายที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียมก็มีโอกาสที่เครื่องจะเกิดสัญญาณดังได้มากกว่าใส่น็อตใส่สกรู ดังนั้นเพื่อให้การเดินทางของเราทุกคนสะดวกรวดเร็วและมีความสุขไร้ข้อกังวลใด ๆ เราจึงควรพกบัตรแสดงประวัติการผ่าตัดเหล็กชนิดนั้น ๆ หรือมีภาพ x-ray เล็ก ๆ ประกอบได้ยิ่งดี เพื่อที่จะได้ให้เจ้าหน้าที่ดูหรือตรวจสอบได้เมื่อเครื่องส่งสัณญาณดังขึ้นครับ
เอกสารอ้างอิง
https://www.globecomposite.com/blog/airport-security-screening-radiation-curtains
https://www.wg-plc.com/product/wts6-walk-through-metal-detector
https://www.directorthocare.com/airport-metal-detectors-vs-body-metal/
https://www.londonupperlimbsurgery.co.uk/blog/Will-my-surgical-hardware-set-off-metal-detector-in-the-airport