ในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนมีความกังวลกับการเข้ารับวัคซีนโควิด 19 ว่าจะมีผลเกี่ยวข้องกับโรคหรือยาที่ใช้อยู่ทางออร์โธปิดิกส์หรือไม่ หากจะกล่าวอ้างถึงหลักฐานเชิงประจักษ์อาจจะยังไม่มีข้อมูลสรุปที่ชัดเจนเพียงพอ คำแนะนำต่อไปนี้ใช้การสันนิษฐานจากกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกันของยาทางออร์โธปิดิกส์กับวัคซีนโควิด 19 บนพื้นฐานของหลักการทางวิทยาศาสตร์
ผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์ทุกโรคไม่มีข้อห้ามในการเข้ารับวัคซีนโควิด 19 แม้กระทั่งผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกและเนื้อเยื่อ, ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างได้รับการบำบัดด้วยยาและวิธีการต่างๆ (เช่น เคมีบำบัด รังสีรักษา ยากดภูมิคุ้มกันที่อาการของโรคสงบ เป็นต้น) สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ สำหรับผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ แนะนำให้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทันทีเมื่อควบคุมอาการได้คงที่แล้ว
อย่างที่ทราบกันดีว่าการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกลไกภูมิคุ้มกันขึ้นเอง ดังนั้นแล้วยาที่กดการสร้างภูมิคุ้มกันจึงเป็นกลุ่มหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากอาจทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง ผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์ที่ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ (Prednisolone) ในปริมาณที่ <20 มิลลิกรัมต่อวันหรือเทียบเท่า ไม่ต้องงดยาขณะเข้ารับวัคซีน แต่หากได้รับ Prednisolone ในปริมาณที่ >20 มิลลิกรัมต่อวันหรือเทียบเท่า ติดต่อกันเกิน 1 เดือนขึ้นไป หากสามารถคุมโรคได้คงที่ ให้รับวัคซีนได้โดยไม่งดยา แต่หากอาการของโรคไม่คงที่ แนะนำให้เข้ารับวัคซีนเมื่อควบคุมอาการของโรคได้สงบ ในที่นี้อาจมีผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์บางท่านที่มีโอกาสได้รับยากดภูมิ Methotrexate แนะนำให้หยุดยาชั่วคราว 1-2 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีน เฉพาะกรณีโรคควบคุมได้ดีแล้ว
ยากลุ่มบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาที่นิยมใช้เพื่อรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ, ปวดข้อ สามารถรับประทานยา NSAIDs ได้เมื่อเข้ารับวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากในการศึกษาทางห้องปฏิบัติการทางไวรัสวิทยา ยา NSAIDs ที่มีผลต่อเรื่องสาร prostaglandins นั้น ไม่ได้มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโดยภาพรวม ทั้งนี้ยา NSAIDs ไม่ได้เสริมฤทธิ์กับวัคซีนโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (recombinant viral vector vaccine) ในการเกิดผลข้างเคียงเรื่องการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เนื่องจากยา NSAIDs มีกลไกออกฤทธิ์ต่อการทำงานของเกล็ดเลือด (platelet effect) ซึ่งส่งผลหลักต่อกลุ่มโรคเส้นเลือดแดง ในทางกลับกันวัคซีนโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ มีการรายงานการเกิดภาวะ vaccine-induced thrombotic thrombocytopenia (VITT) ซึ่งอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำมากกว่า (cerebral vein และ splanchnic vein thrombosis)
สำหรับผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัดนั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาเนื่องจากยาเคมีบำบัดที่ได้รับในขณะนั้นอาจแตกต่างชนิดกันไป ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดและผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ระดับ absolute neutrophil count < 1,000/cu.mm.) เมื่อได้รับวัคซีน อาจไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้เท่ากับประชากรปกติ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการตอบสนองต่อวัคซีนได้ดี แนะนำให้รับวัคซีนก่อนรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิคุ้มกัน 2-4 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่ต้องฉีด G-CSFแนะนำให้ฉีด G-CSF หลังได้รับวัคซีนแล้ว 3-7 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดร่วมกันได้
ท้ายที่สุดนี้ยาทางออร์โธปิดิกส์อื่นๆที่ผู้ป่วยอาจได้รับ เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Acetaminophen), ยาแก้ปวดกลุ่ม opioids (เช่น Tramadol), ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาลดปลายประสาทอักเสบ (Gabapentin), Vitamin B, Calcium, ยารักษากระดูกพรุน (เช่น Alendronate), ยาโรคข้อเสื่อม (เช่น Diacerein), ยาทาบรรเทาปวด เป็นต้น ไม่มีข้อห้ามชัดเจนในการรับประทานยาเมื่อไปรับวัคซีนโควิด ทั้งนี้หากท่านยังมีความกังวล ท่านสามารถหยุดยาทางออร์โธปิดิกส์ดังกล่าวได้เมื่อเข้ารับวัคซีนโควิด 19
อ้างอิง;
1. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
2. คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ป่วยโรคเลือด(สำหรับแพทย์) โดยสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
3. Jennifer S. Chen, Mia Madel Alfajaro, Ryan D. Chow, et al. Nonsteroidal Anti-inflammatory Drugs Dampen the Cytokine and Antibody Response to SARS-CoV-2 Infection. Journal of Virology. 2021;95:1-16.
พญ.ปักใจ ตันตรัตนพงษ์
สาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์