ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง (compartment syndrome)
ในผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ตามหลังการรักษาภาวะกระดูกหักโดยการใส่เฝือก
นพ.ณัฐพจน์ บุษราคำ
กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด
อนุสาขาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง (compartment syndrome) เป็นภาวะเร่งด่วนทางออร์โธปิดิกส์ที่อาจก่อให้เกิดการทุพลภาพและเสียชีวิตได้ เกิดจากความดันในช่องระหว่างมัดกล้ามเนื้อของร่างกายสูงมากขึ้นภายในเนื้อที่จำกัด ทำให้การไหลเวียนเลือดเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อลดลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อ เส้นประสาทหลอดเลือดภายในทั้งหมดขาดเลือดมาเลี้ยงและตายในระยะเวลาอันสั้น
การศึกษาที่ผ่านมาพบอุบัติการณ์ในแต่ละการศึกษาแตกต่างกันในต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยหรือผู้ป่วยเอเชียยังไม่พบรายงานอุบัติการณ์ที่ชัดเจน สาเหตุหนึ่งที่พบได้มากที่สุดเกิดตามหลังภาวะกระดูกหักบริเวณแขนและขาส่วนปลาย (Radius and tibia fracture) ซึ่งพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนหนึ่งมักได้รับการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด (conservative treatment) โดยการใส่เฝือกด้วยเทคนิคที่ไม่ถูกต้อง อาทิ พันเฝือกแน่นเกินไป จำนวนชั้นของเฝือกหนามากเกินไป การใส่เฝือกทันทีหลังเกิดการบาดเจ็บใหม่และเกิดการบวมของเนื้อเยื่อรอบกระดูกที่บาดเจ็บ ล้วนแล้วแต่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง (compartment syndrome) ทั้งสิ้น ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่มีการศึกษาพบว่าสัมพันธ์กับโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวได้แก่ บาดเจ็บที่รุนแรง (อุบัติเหตุทางรถยนต์) กระดูกหักแบบกดทับ (crushed injury) และเพศชายเนื่องจากมีมวลกล้ามเนื้อโดยรวมมากกว่าเพศหญิง
อย่างไรก็ดีภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงสามารถเฝ้าระวังเบื้องต้นด้วยตนเองที่บ้านได้ โดยแพทย์ผู้ให้การรักษามักให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังโดยใช้หลักการ 6P ดังนี้
1. อาการปวด (PAIN) เป็นอาการนำที่พบบ่อยที่สุดของภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง มักมีอาการปวดรุนแรง ระบุตำแหน่งชัดเจนไม่ได้ ปวดแม้กระทั่งในขณะพัก หรือรู้สึกปวดมากเมื่อกล้ามเนื้อถูกยืดออก อาการปวดอาจไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำ ไม่ทุเลาหลังจากได้รับยาบรรเทาอาการปวด
2. อาการชา (PARESTHESIA) เป็นอาการนำที่มักเกิดขึ้นร่วมกันกับอาการปวดในระยะแรก
3. อาการผิวหนังส่วนปลายซีด (PALLOR) มักพบตามหลังอาการชาและปวด โดยเฉพาะอวัยวะที่อยู่ต่ำกว่าตำแหน่งที่บาดเจ็บ แสดงถึงภาวะที่เลือดไปเลี้ยงได้ลดลง
4. ผิวหนังมีอาการเย็นและซีดมากกว่าข้างที่ปกติ (POIKILOTHERMIA) หรืออาจมีผิวหนังเขียวคล้ำ (cyanosis) ในรายที่มีอาการรุนแรง
5. อาการอ่อนแรง (PARALYSIS) มักพบในระยะหลัง เกิดจากภาวะเส้นประสาทถูกทำลายจากกล้ามเนื้อที่ขาดเลือดไปเลี้ยง มักไวต่อการถูกยืดขยาย สามารถทดสอบโดยการกระดิกนิ้วมือหรือนิ้วเท้าที่อยู่ปลายต่อเฝือกที่ใส่
6. อาการคลำชีพจรไม่ได้ (PULSELESSNESS) มักพบในระยะท้ายในรายที่มีอาการรุนแรง เกิดจากความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงเป็นระยะเวลานาน ระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณหลอดเลือดแดงฝอยไม่สามารถไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ มักสัมพันธ์กับภาวะกล้ามเนื้อตายและทุพพลภาพถาวร หรืออาจอันตรายถึงชีวิตได้
ดังนั้นเมื่อเกิดอาการผิดปกติภายหลังการใส่เฝือกให้รีบมาพบแพทย์เพื่อให้การรักษาได้ทันท่วงที
อ้างอิง
1. Via AG, Oliva F, Spoliti M, Maffulli N. Acute compartment syndrome. Muscles, Ligaments and Tendons J. 2015;5(1):18-22. 6. Walls MH. Compartment syndrome: an orthopedic emergency. J Emerg Nurs. 2017;43(4):303-7.
2. Walls MH. Compartment syndrome: an orthopedic emergency. J Emerg Nurs. 2017;43(4):303-7.
3. Halanski M, Noonan KJ. Cast and Splint Immobilization: Complications, J Am Acad Orthop Surg. 2008;16(1):30-
4.McQueen MM, Duckworth AD, Aitken SA, Sharma RA, Court-Brown CM. Predictors of compartment syndrome after tibial fracture. J Orthop Trauma. 2015;29(10):451-5.
5. Shadgan B, Pereira G, Menon M, Jafari S, Darlene RW, O’Brien PJ. Risk factors for acute compartment syndrome of the leg associated with tibial diaphyseal fractures in adults. J Orthop Traumatol. 2015;16(3):185–92.