อาจารย์ นายแพทย์ไตร พรหมแสง
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อนุสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
อาการปวดไหล่พบได้บ่อยในคนวัย 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอาการปวดนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุก็สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องผ่าตัด เช่น โรคไหล่ติดหรือเส้นเอ็นไหล่อักเสบ แต่มีโรคหนึ่งที่พบได้ค่อนข้างบ่อยและไม่สามารถหายได้เองถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการผ่าตัดอย่างทันท่วงที ซึ่งก็คือโรคเอ็นไหล่ฉีกขาด เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้มักจะรู้สึกว่าเป็นโรคที่รุนแรง แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้แพทย์รักษาโรคนี้จนหายขาดได้ ดั้งนั้นผู้ที่มีอาการปวดไหล่จึงสมควรทำความรู้จักโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้น
ผู้ป่วยที่มีเอ็นไหล่ฉีกขาดหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า rotator cuff tear จะมีอาการปวดไหล่บริเวณด้านหน้า ปวดมากขึ้นขณะนอนตอนกลางคืน ถ้ารอยขาดมีขนาดใหญ่ผู้ป่วยจะยกแขนไม่ขึ้น และหากไม่ได้รับการรักษา รอยขาดอาจขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดข้อไหล่เสื่อมตามมาได้
สาเหตุของเอ็นไหล่ฉีกขาดเกิดจากความเสื่อมตามอายุของเส้นเอ็น ยิ่งอายุมากเส้นเอ็นก็จะเปื่อยและขาดง่ายขึ้น หรือบางกรณีอาจเกิดจากอุบัติเหตุหกล้มแขนสะบัดก็ส่งผลให้เอ็นไหล่ฉีกขาดได้เช่นกัน ปัญหาที่พบได้บ่อยคือผู้ป่วยเอ็นไหล่ฉีกขาดมักจะได้รับการวินิจฉัยที่ล่าช้าเนื่องจากอาการของเอ็นไหล่ฉีกขาดจะคล้ายกับโรคไหล่ติดหรือเส้นเอ็นไหล่อักเสบ การวินิจฉัยจำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์และต้องทำการตรวจด้วยภาพเอ็มอาร์ (magnetic resonance imaging; MRI) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย เนื่องจากการเอกซเรย์ธรรมดาไม่สามารถวินิจฉัยเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดได้
การรักษาเบื้องต้นอาจบรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัด อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่สามารถทำให้เส้นเอ็นที่ฉีกขาดกลับมาเชื่อมต่อกันได้ เป็นเพียงแต่บรรเทาอาการปวดชั่วคราวเท่านั้น
ในปัจจุบันการรักษาที่ได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกคือ การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็น นวัตกรรมการผ่าตัดผ่านกล้องวีดีโอขนาดเล็กถูกพัฒนาขึ้นมาจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามีการคิดค้นเทคนิคใหม่ ๆมากมาย และยังคงจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดและเทคนิคการผ่าตัด
ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ป่วยคือ เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อเข้าไปเย็บซ่อมเอ็นไหล่นี้จะช่วยลดขนาดแผลผ่าตัดให้เหลือเพียง 8 มิลลิเมตร ซึ่งขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดโดยการเปิดแผลแบบดั้งเดิมซึ่งอาจยาวถึง 10 เซนติเมตร ข้อดีอีกประการหนึ่งของการผ่าตัดผ่านกล้องก็คือ หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการปวดน้อยมาก ฟื้นตัวเร็ว และอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดประเภทนี้ต้องอาศัยแพทย์ที่มีความชำนาญสูงและค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดค่อนข้างสูง
ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็นไหล่เพื่อรักษาโรคเอ็นไหล่ฉีกขาดต้องดมยาสลบและนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัดประมาณ 1-2 วัน วิสัญญีแพทย์อาจทำการบล็อคข่ายประสาทที่คอเพื่อลดอาการปวดหลังผ่าตัดร่วมด้วย หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องใส่ที่คล้องแขนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อรอให้เส้นเอ็นสมานกัน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันการเกิดข้อไหล่ติด อาการปวดจะหายไปจนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนหลังผ่าตัด และสามารถเริ่มเล่นกีฬาได้ในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน
ดังนั้นสิ่งสำคัญเมื่อสงสัยว่ามีอาการคล้ายโรคเอ็นไหล่ฉีกขาด ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาให้ทันท่วงที และหากมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ควรพิจารณาเข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องโดยแพทย์ผู้ชำนาญ เพราะโรคเอ็นไหล่ฉีกขาดเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดจากอาการเจ็บปวดและให้ผลสำเร็จสูง ในทางกลับกันหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะพัฒนาเป็นโรคข้อไหล่เสื่อมได้